ภายหลังจากการเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ทุกธุรกิจเริ่มพบปัญหา บางธุรกิจถึงขั้นต้องหยุดชะงักและปิดตัวลง คนทำงานหลายคนต้องตกงาน บางคนโชคดีมีงานทำแต่ต้องแลกกับการลดเงินเดือนหรือค่าจ้างลงเพื่อช่วยเหลือให้ธุรกิจนั้นมีโอกาสรอด โดยเฉพาะคนที่มีหนี้ ต่างก็ดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคนี้ไปได้ แต่ด้วยระยะเวลาการระบาดที่รุนแรงและยาวนานจนลูกหนี้บางคนเริ่มทนไม่ไหวและหันหน้าไปทางไหนก็ยากที่จะมีคนช่วยเหลือ เพราะต่างบอบช้ำมาเหมือนกัน โดยในวันนี้จะมาแนะนำวิธีบริหารหนี้สินในช่วงโควิดว่าทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด
10 วิธีบริหารหนี้สินในช่วงวิกฤติโควิด
1. คัดแยกหนี้ดีและหนี้ที่ไม่ดี
หนี้ดี คือ หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้มากกว่าดอกเบี้ย เช่น กู้เงินมาลงทุนและสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต้องเสียไป ในขณะที่หนี้ที่ไม่ดี คือ หนี้เพื่อการบริโภค หนี้ที่ไม่ก่อประโยชน์เหมือนการดึงเงินในอนาคตมาใช้งานก่อน ตรงส่วนนี้เรียกว่าหนี้ไม่ดีหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ดังนั้น เมื่อแยกหนี้ได้แล้วก็ไปเจรจากับเจ้าหนี้ที่เป็นหนี้ไม่ดี ถึงปัญหาที่ได้รับผลกระทบ หากพอมีเงินก้อนปิดหนี้ได้ควรแบ่งมาปิดหนี้ก่อน เพื่อป้องกันปัญหาดอกเบี้ยบานและเสียเครดิตในอนาคตได้
2. หนี้ไหนรีไฟแนนซ์ได้ให้ทำก่อน
เมื่อแบ่งแยกหนี้ดีและหนี้ไม่ดีออกมาแล้วปรากฏว่ามีหนี้ที่สามารถนำมารีไฟแนนซ์ได้ เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ ให้ยื่นเรื่องขอรีไฟแนนซ์แล้วนำเงินไปจ่ายหนี้อื่น ๆ เพื่อรวบรวมหนี้ไว้ที่เดียว เพราะอย่างน้อยก็จะช่วยยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระออกไป ดีกว่ามีเจ้าหนี้หลายรายซึ่งจะทำให้ปวดหัวมากยิ่งกว่า อีกอย่างการมีเจ้าหนี้น้อยรายน่าจะเจรจาและหาทางออกได้ง่ายกว่ามีเจ้าหนี้หลายราย
3. ลด ละ เลิก รายจ่ายที่ฟุ่มเฟือย
เมื่อถึงเวลารัดเข็มขัด สิ่งไหนที่ไม่จำเป็นก็ต้องลด ละ เลิก เสียก่อน และใช้จ่ายอย่างประหยัด เพื่อให้รายรับมากกว่ารายจ่าย หรืออย่างน้อยก็อย่าให้รายรับน้อยกว่ารายจ่าย เพราะไม่อย่างนั้นก็จะกลับมาเป็นหนี้ได้อีกเหมือนเดิม เช่น ประกันรถ หากรถมีอายุเกินกว่า 5-8 ปี จากเดิมที่ใช้ประกันชั้น 1 อาจพิจารณาหันมาใช้ประกัน 2+ ได้ ซึ่งค่าเบี้ยจะถูกกว่ากันมาก แต่ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต หากเป็นไปได้อย่าหยุดส่งเบี้ย เพราะคุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะล้มป่วยได้เมื่อใด เพราะอย่างน้อยหากเจ็บไข้ได้ป่วยจริง ก็ยังมีรายได้ชดเชยเนื่องจากต้องหยุดทำงานใน ประกันสุขภาพ มอบให้ด้วย
4. หยุดสร้างหนี้ใหม่ แก้ไขหนี้เก่าให้หมดก่อน
แม้หลายต่อหลายครั้งที่การแก้ไขหนี้จะเป็นเรื่องยาก แต่การหยุดสร้างหนี้ใหม่น่าจะง่ายกว่า ดังนั้นควรคิดวิธีหาเงินเพิ่ม มากกว่าที่จะคิดไปสร้างหนี้ใหม่ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้เก่าให้หมดเสียก่อน เพราะไม่อย่างนั้นจะแก้ปัญหาหนี้สินไม่รู้จบ กลายเป็นดินพอกหางหมู
5. หากต้องลงทุน ให้ใช้แรงแลกเงินไปก่อน
ในสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง แถมเจอโรคระบาด หลายกิจการต้องปิดตัวลง การลงทุนโดยที่ไม่มีความรู้หรือต่อให้มีความรู้ก็อาจจะเสี่ยงขาดทุนได้ ดังนั้นควรหันไปลงแรงแลกเงินมากกว่าใช้เงินทุน เช่น การขายของออนไลน์โดยใช้วิธี Dropship คือ การนำสินค้าไปโพสขายของ หากมีคนสนใจค่อยติดต่อผู้ผลิตหรือผู้ขาย แม้จะได้กำไรไม่มากแต่ก็ดีกว่าต้องใช้เงินลงทุน เมื่อขายได้ค่อยโอนเงินค่าสินค้าไปให้ผู้ผลิตหรือผู้ขายอีกต่อหนึ่ง โดยหักส่วนต่างที่เป็นกำไรหยอดกระปุกเก็บไว้
6. หยุดพฤติกรรม ราชาเงินผ่อน
แม้การซื้อสินค้าด้วยเงินผ่อนจะช่วยให้คุณไม่ต้องเสียเงินก้อนโต แต่อาจทำเสียวินัยทางการเงินได้ ดังนั้นควรอดเปรี้ยวไว้กินหวาน สะสมเงินหยอดกระปุกเมื่อถึงเวลาอยากได้ค่อยนำเงินมาซื้อ เผลอ ๆ อาจไม่กล้าซื้อหรือหายจากความอยากได้ของนั้นแล้ว แล้วนำเงินที่สะสมมาไปฝากธนาคารหรือเก็บไว้ลงทุนในอนาคตได้
7. สร้างวินัยด้วยการเปิดบัญชีเงินฝากประจำ
เงินฝากประจำจะช่วยให้คุณสร้างวินัยการลงทุนได้ง่ายที่สุด อีกทั้งยังมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝากแบบออมทรัพย์ หากทำตามกฎและไม่ถอนเงินก่อนกำหนด โดยปกติเงินฝากประจำจะมีระยะเวลาเริ่มต้น 24 เดือน และ 36 เดือน ผู้ฝากจะต้องนำเงินฝากด้วยตนเองหรือใช้วิธีหักจากบัญชีเงินเดือน ทุก ๆ เดือน ในจำนวนที่เท่า ๆ กัน โดยเริ่มต้นเพียงแค่ 1,000 บาท เท่านั้น เมื่อครบกำหนดปิดบัญชีนอกจากจะได้เงินก้อนแล้วยังได้รับดอกเบี้ยที่สูงและปลอดภาษีด้วย ใครที่กำลังมองหาวิธีการฝากเงินจะต้องไม่พลาดบัญชีฝากประจำนี้แน่นอน
8.งดการเดินห้างสรรพสินค้าและตลาดเปิดท้าย
ในเวลาว่างวันหยุด หลายคนเลือกที่จะไปเดินตามห้างสรรพสินค้าหรือตลาดเปิดท้าย แม้จะไม่ตั้งใจเพื่อไปซื้อสินค้าแต่ถ้าเจอสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งที่อยากได้อยู่แล้ว อาจทำให้เสียเงินซื้อก็เป็นได้ โดยเฉพาะป้ายส่วนลดต่าง ๆ โปรโมชันที่ทางห้างนำมาเสนอ ที่สำคัญการงดเดินห้างและตลาดเปิดท้ายยังช่วยให้ตัวคุณเองห่างไกลจากความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ด้วย
9.กำหนดเงินใช้เป็นรายวัน
ในยามที่ต้องรัดเข็มขัด การแบ่งเงินใช้เป็นรายวันก็จะช่วยให้คุณมีวินัยในการใช้เงินมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น โดยซื้อเฉพาะอาหารและค่ารถสำหรับเดินทางไปทำงานเท่านั้น เพียงเท่านี้คุณก็จะมีเงินเหลือเก็บได้ตามแผนการออม
10. ฝึกและเรียนรู้วิชาชีพสำรอง
อาชีพเสริมเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่หลาย ๆ คนกำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ ซึ่งบางอาชีพสามารถทำเงินได้มากกว่ารายได้หลักก็เป็นได้ เช่น การขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหาร หากมีรถเป็นของตนเองก็สามารถนำมาประกอบอาชีพนี้ได้ในทันที โดยไม่ต้องลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก เช่น การเรียนเป็นช่างตัดผม ขายของออนไลน์ การเขียนบทความ เป็นต้น
การวางแผนทางการเงินเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญลำดับแรก ๆ ของการเริ่มทำงาน เพราะไม่มีใครคาดคิดได้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร โดยเฉพาะการออมเงินในรูปแบบต่าง ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด หรือแม้แต่การซื้อประกันชีวิต หรือ ประกันสุขภาพ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงนี้ได้ รวมถึงอาชีพเสริมที่แม้จะให้ผลตอบแทนไม่มากเท่างานประจำ แต่เมื่อถึงคราวลำบาก เงินส่วนนี้ก็จะสามารถช่วยคุณได้
ที่มาข้อมูล
–https://www.tidlor.com/th/article/financial/saving/10-ways-to-start-saving-for-salary-man.html
–https://taokaemai.com/%E0%B9%8910-step-to-clear-debt/#